“ปรับตัวอย่างไร เมื่อเพื่อนร่วมงานกลายเป็นหุ่นยนต์”

1849 Views  | 


“ปรับตัวอย่างไร เมื่อเพื่อนร่วมงานกลายเป็นหุ่นยนต์”

“ปรับตัวอย่างไร เมื่อเพื่อนร่วมงานกลายเป็นหุ่นยนต์”

     ในยุคที่โลกมีเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยมากขึ้นเรื่อยๆ และ พัฒนามาจนถึงจุดที่มนุษย์เราเริ่มใช้ชีวิตประจำวัน อย่างกลมกลืนไปกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ หุ่นยนต์ จะเห็นได้จากการพัฒนาหุ่นยนต์ในหลายรูปแบบ ไม่ใช่แค่ในภาคอุตสาหกรรมแบบเดิมๆเท่านั้น แต่ยกระดับไปถึงหุ่นยนต์ที่สามารถอยู่ในชีวิตประจำวันร่วมกับมนุษย์ได้แล้ว เช่น Moley หุ่นยนต์ทำอาหารที่มีลักษณะเป็นแขน 2 ข้างใช้ทำงานเลียนแบบมนุษย์, Pillo หุ่นยนต์คุณหมออัจฉริยะ ที่จะคอยเตือนความจำและจ่ายยาให้ ทั้งยังสามารถตอบคำถามเรื่องสุขภาพได้, Ebo กล้องเคลื่อนที่อัจฉริยะ ที่ตามสอดส่องความเรียบร้อยในบ้านได้ทุกจุด เป็นต้น

     เมื่อพิจารณาจากข้อมูลข้างต้นแล้ว หุ่นยนต์จึงถือเป็นนวัตกรรมที่ขับเคลื่อน ให้การใช้ชีวิตของผู้คน เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว  จนใกล้เคียงกับคำว่า "เพื่อนร่วมโลก" ของเราไปแล้ว โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม และการทำงาน ที่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น  โดยนอกจากจะเป็นเพื่อนร่วมโลกแล้ว ยังอาจกลายมาเป็นเพื่อนร่วมงาน ที่มานั่งข้างๆเราก็เป็นได้

แล้วมนุษย์อย่างเราจะต้องปรับตัวอย่างไร เมื่อเพื่อนร่วมงานกลายเป็นหุ่นยนต์? 

     เพื่อให้เราเข้าใจว่าการทำงานร่วมกับมนุษย์นั้น จะมีความสัมพันธ์ไปในทิศทางใดบ้าง จากข้อมูลในต่างประเทศ เคยมีการสรุปความสัมพันธ์ในเชิงการทำงานร่วมกับหุ่นยนต์ โดยแบ่งงานออกเป็น 4 กลุ่ม คือ

กลุ่มที่ 1 งานที่มนุษย์สามารถทำได้ แต่หุ่นยนต์ทำได้ดีกว่า
(Job today that humans do but machines will eventually do butter.)

งานกลุ่มนี้เป็นงานที่แต่เดิมเป็นงานของมนุษย์ แต่ด้วยความสามารถของหุ่นยนต์ ในเรื่องของความรวดเร็ว แม่นยำ สามารถทำออกมาได้ดีกว่าอย่างชัดเจน เช่น งานประกอบชิ้นส่วนอุตสาหกรรม, งานการผลิตต่างๆ หรืองานที่เสี่ยงอันตราย ที่หุ่นยนต์สามารถเข้าเสี่ยงภัยได้ดีกว่า งานเหล่านี้ มนุษย์จำเป็นต้องยอมให้เป็นหน้าที่ของหุ่นยนต์ และ ทำงานร่วมกันในลักษณะที่ เป็นผู้ควบคุม ป้อนคำสั่ง มากกว่าการจะเข้าไปทำงานร่วมกัน เพราะที่สุดแล้ว เราไม่มีทางทำได้เท่าหุ่นยนต์อยู่ดี

กลุ่มที่ 2 งานที่มนุษย์ทำไม่ได้ แต่หุ่นยนต์ทำได้
(Current jobs that humans can't do but machines can.)

     งานกลุ่มนี้เป็นงานที่เกิดขึ้นมาจากการใช้หุ่นยนต์มาตั้งแต่แรก เนื่องจากมนุษย์ไม่สามารถทำได้ด้วยตนเอง เช่น การใช้เครื่อง MRI หรือ เครื่อง CT Scan ทางการแพทย์ เพื่อให้ได้ผลวิเคราะห์ภายใน ที่มนุษย์ไม่สามารถเห็นได้จากภายนอก หรือการผลิตชิปคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นงานที่ต้องอาศัยความแม่นยำเกินระดับที่มนุษย์จะทำได้ด้วยมือเปล่า งานกลุ่มนี้ใกล้เคียงกับกลุ่มแรก ที่มนุษย์พ่ายแพ้เพราะมีขีดจำกัด โดยหุ่นยนต์จะสามารถเข้ามาช่วยลดอัตราการเกิด Human Error ในการทำงานได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ เราสามารถทำงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันได้  โดยไม่ต้องก้าวล่วงงานของกันและกัน เพียงแค่แบ่งความรับผิดชอบกันอย่างชัดเจน โดยมีมนุษย์คอยควบคุม

กลุ่มที่ 3 งานที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ โดยใช้ระบบอัตโนมัติ หรือ หุ่นยนต์โดยเฉพาะ
(Robot jobs that we can't even imagine yet.)

     งานกลุ่มนี้ เป็นงานที่อาจจะเพิ่งเริ่มมีขึ้นในช่วงระยะเวลาไม่กี่ปี เราจะเห็นได้ในช่วงรอยต่อของเจน Y มาถึง เจนZ มีเทคโนโลยีหลายอย่างที่เกิดใหม่ขึ้นช่วง 10-15ปี หลัง เช่น การใช้ระบบอัตโนมัติ เพื่อตามหาโทรศัพท์ รถ สิ่งของ, การใช้ Data และ AI เข้ามาช่วย Matching กลุ่มเป้าหมายสำหรับงานการตลาด สิ่งเหล่านี้เกิดจากระบบอัตโนมัติที่ประสบความสำเร็จ และก่อให้เกิดการปรับตัวครั้งใหญ่ โดยที่เราไม่ทันรู้ตัว และ ที่สำคัญ ในบางครั้งเราไม่เคยรู้ด้วยซ้ำว่าเราต้องการสิ่งนั้น ดังนั้น การทำงานร่วมกันในงานที่เป็นโลกของหุ่นยนต์อย่างแท้จริง มนุษย์อย่างเรามีหน้าที่ในการแสวงหาความรู้ให้เท่าทันเทคโนโลยี รวมทั้งพยายามติดตามวิวัฒนาการใหม่ๆที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อให้เราไม่ล้าหลังจนยากเกินจะปรับตัว

กลุ่มที่ 4 งานที่มนุษย์เท่านั้นที่ทำได้
(Job that only humans will be able to do-- at first)

     แม้ว่าใน3 กลุ่มที่กล่าวมา จะดูเหมือนว่า หุ่นยนต์สามารถเข้ามามีบทบาทได้เกือบทุกงาน แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะหุ่นยนต์จะสามารถทำงานแทนมนุษย์ได้ทุกเรื่องเสมอไป โดยเฉพาะในเรื่องของงานที่ต้องใช้ตรรกะความคิด การมีเหตุและผลในการตัดสินใจ รวมทั้งงานที่ต้องอาศัยความสามารถในการเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น (Empathy) เช่น นักจิตวิทยา, นักเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาท หรือ แม้แต่การเป็นนักกีฬาอาชีพ สิ่งเหล่านี้ขับเคลื่อนได้จากความเป็นมนุษย์ มีเพียงมนุษย์เท่านั้นที่ทำได้ ถือเป็นงานที่เราต้องพัฒนาทักษะต่างๆ ในงานตรงส่วนนี้ให้เชี่ยวชาญมากขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าวันข้างหน้า หุ่นยนต์อาจจะสามารถเข้ามาทำแทนได้ แต่ก็จำเป็นต้องใช้เวลา หรืออาจจะไม่ประสบความสำเร็จเท่ามนุษย์เป็นผู้ทำ เนื่องจากไม่มีใครเข้าใจอารมณ์ของมนุษย์ได้ดี เท่ามนุษย์ด้วยกัน

เมื่อเราเข้าใจถึงกลุ่มงานทั้ง 4 แบบ ที่สรุปความสัมพันธ์ระหว่างการทำงานของมนุษย์และหุ่นยนต์แล้ว เราจะเห็นได้ว่า มีบางงานที่เราสามารถเป็น "เพื่อนร่วมงาน" กันได้ และมีบางงานที่มีเพียงฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่งเท่านั้นที่ทำได้ ดังนั้น งานไหนที่สามารถทำร่วมกันได้ หากมนุษย์สามารถที่จะปรับตัว และ เรียนรู้ในการใช้ประโยชน์จากเพื่อนร่วมงานใหม่ ทั้งสองฝ่ายจะสามารถช่วยกันสร้างจุดแข็ง และ แก้ไขจุดอ่อนไปพร้อมๆกัน ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์ในการทำงานร่วมกันในอนาคต

Powered by MakeWebEasy.com
This website uses cookies for best user experience, to find out more you can go to our Privacy Policy  and  Cookies Policy